วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

คำซ้อน


คำซ้อน คือ คำสร้างขึ้นใหม่จากคำมูล โดยนำคำที่มีความหมายเหมือนกัน ใกล้เคียงกันหรือตรงข้ามกัน มาวางซ้อนกัน เกิดเป็นคำใหม่ มีความหมายใหม่หรือมีความหมายชัดเจนขึ้น

ลักษณะของคำซ้อน

๑.  เกิดจากคำมูลที่มีความหมายอย่างเดียวกันหรือทำนองเดียวกัน ส่วนมากความหมายอยู่ที่คำมูลคำใดคำหนึ่งคำเดียว เช่น

กีดกัน     หมายถึงอยู่ที่        กัน

เนื้อตัว    หมายถึงอยู่ที่        ตัว

หน้าตา   หมายถึงอยู่ที่        หน้า

ปากคอ   หมายถึงอยู่ที่        ปาก



๒.  เกิดจากคำมูลที่มีความหมายอย่างเดียวกันหรือทำนองเดียวกัน โดยความหมายอยู่ที่คำมูลคำหน้าหรือคำหลังคำใดคำหนึ่ง เช่น
รากฐาน                 หมายถึงอยู่ที่        ราก หรือ ฐาน
บ้านเรือน              หมายถึงอยู่ที่        บ้าน หรือ เรือน
รูปร่าง                    หมายถึงอยู่ที่        รูป หรือ ร่าง
เขตแดน                หมายถึงอยู่ที่        เขต หรือ แดน
๓. เกิดจากคำมูลที่มีความหมายอย่างเดียวกันหรือทำนองเดียวกัน แต่คำหนึ่งเป็นคำภาษาถิ่นความหมานอยู่ที่คำภาษากลางหรือภาษามาตรฐาน  เช่น
                เสื่อสาด   สาด  เป็นคำภาษาถิ่น (เหนือ อีสาน ใต้)  หมายถึง เสื่อ
                ทองคำ   คำ   เป็นคำภาษาถิ่น (เหนือ อีสาน )  หมายถึง  ทอง
                อ้วนพี    พี    เป็นคำภาษาถิ่น  (อีสาน ใต้)  หมายถึง อ้วน
                ข่มเหง   เหง  เป็นคำภาษาถิ่น (ใต้) ทับ หรือ ข่ม
๔.  เกิดจากคำมูลที่มีความหมายอย่างเดียวหรือทำนองเดียวกัน แต่คำหนึ่งเป็นคำภาษาต่างประเทศ ความหมายอยู่ที่คำไทย เช่น
                สร้างสรรค์  สรรค์  เป็นคำภาษาสันสกฤต  หมายถึง  สร้าง
                พงไพร  ไพร  เป็นคำภาษาเขมร  หมายถึง พง
                แบบฟอร์ม  ฟอร์ม  เป็นคำภาษาอังกฤษ  หมายถึง  แบบ
๕.  เกิดจากคำมูลที่มีความหมายทำนองเดียวกัน มีความหมายใหม่กว้างกว่าคำมูลเดิม อาจมีสัมผัสระหว่างคำก็ได้
                พี่น้อง  ไม่ได้หมายเฉพาะพี่กับน้อง แต่รวมถึงญาติทั้งหมด
                ลูกหลาน  ไม่ได้หมายเฉพาะลูกกับหลาน  แต่รวมถึงญาติทั้งหมด
                ข้าวปลา  ไม่ได้หมายเฉพาะข้าวกับปลา แต่รวมถึงอาหารทั่วไป
                ถ้วยชามรามไห  ถ้วยโถโอชาม  หมายถึง  ภาชนะใส่อาหาร
                ผลหมากรากไม้  ส้มสูกลูกไม้  หมายถึง  ผลไม้
                หมูเห็ดเป็ดไก่  หมายถึง   อาหารจำพวกเนื้อสัตว์
                เรือกสวนไร่นา  หมายถึง  ที่สำหรับเพาะปลูกพืช
๖.  เกิดจากคำมูลที่มีความหมายอย่างเดียวกันหรือทำนองเดียวกัน เกิดความหมายใหม่แต่มีเค้าความหมายของคำมูลเดิมเช่นเดียวกับคำประสม
                ถากถาง                  หมายถึง                                พูดเสียดแทง
                ดูแล                        หมายถึง                                เอาใจใส่
                เดือนร้อน              หมายถึง                                เป็นทุกข์
                อ่อนน้อม              หมายถึง                                แสดงกิริยาวาจานบนอบ
               ๗.  เกิดจากคำมูลที่มีความหมายทำนองเดียวกัน ความหมายอยู่ที่คำต้นกับคำท้าย ส่วนมากมีสัมผัสระหว่างคำ เช่น
                เคราะห์หามยามร้าย           หมายถึง                                  เคราะห์ร้าย
                ฤกษ์งามยามดี                      หมายถึง                                ฤกษ์ดี
                ยากดีมีจน                              หมายถึง                                ยากจน
๘.  เกิดจากคำมูลที่มีความหมายตรงกันข้าม เกิดความหมายใหม่ ซึ่งเป็นความหมายกว้าง เช่น
                สูงต่ำ                           หมายถึง                          ระดับความสูงของสิ่งต่างๆ
                มากน้อย                     หมายถึง                          ปริมารของสิ่งต่างๆ
                เร็วช้า                           หมายถึง                        อัตราความเร็ว
                ถูกแพง                        หมายถึง                        ราคา
                เปรี้ยวหวานมันเค็ม  หมายถึง                          รสอาหาร
๙.  เกิดจากคำมูลหรือพยางค์ที่มีพยัญชนะอย่างเดียวกัน สระหรือตัวสะกดอาจเหมือนกันหรือต่างกันก็ได้  คำมูลหรือพยางค์ที่นำมาประกอบกันอาจมีความหมายหรือไม่มีก็ได้  แต่เมื่อเป็นคำซ้อนแล้วจะต้องมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น
เงอะงะ                  งะ           ไม่มีความหมาย
เฉไฉ                      ไฉ           ไม่มีความหมาย
โจ๋งเจ๋ง                   แต่ละพยางค์ไม่มีความหมาย
เลิ่งลั่ก                    แต่ละพยางค์ไม่มีความหมาย
โกร๋งเกร๋ง              แต่ละพยางค์ไม่มีความหมาย
อะลุ้มอล่วย           แต่ละพยางค์ไม่มีความหมาย
เข้าร่องเข้ารอย    แต่ละพยางค์มีความหมาย
เข้ารูปเข้ารอย     แต่ละพยางค์มีความหมาย
คาราคาซัง         แต่ละพยางค์มีความหมาย
คาหนังคาเขา     แต่ละพยางค์มีความหมาย
ชนิดของคำซ้อน
คำซ้อนแบ่งออกเป็น๒ชนิดคือ
๑.คำซ้อนเพื่อความหมาย   เกิดจากคำมูลที่มีความหมายอย่างเดียวกันใกล้เคียงกัน   หรือ
ตรงกันข้ามมารวมกัน
     ๑.ความหมายอย่างเดียวกัน    เช่น   เติบโต     อ้วนพี   มากมาย   ทรัพย์สิน    ข้าทาส    สูญหาย   โง่เขลา
๒.ความหมายใกล้เคียงกัน   เช่น    เรือแพ      หน้าตา    คัดเลือก     ข้าวปลา  เสื้อผ้า
๓.ความหมายตรงกันข้าม เช่น เท็จจริง ผิดชอบ ดีร้าย
๒.  คำซ้อนเพื่อเสียง  เกิดจากการนำคำที่มีเสียงคลึงกันมาซ้อนเพื่อให้ออกเสียงง่ายขึ้นมีเสียงคล้องจองกัน เกิดความไพเราะขึ้น เช่น
เกะกะ                    ขรุขระ                    เก้งก้าง                 โผงผาง
โอนเอน                ตุกติก                     จู้จี้                           ตูมตาม
อ้างว้าง                  ราบคาบ                 ออมชอม
ความหมายของคำซ้อน
การนำคำมารวมกันจนเกิดเป็นคำซ้อน คำใหม่ที่เกิดขึ้นอาจมีความหมายลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังนี้
 
๑.  มีความหมายชัดเจนหรือหนักแน่นขึ้น เช่น
                ใหญ่โต                  หมายถึง                                ใหญ่มาก
                ทรัพย์สิน               หมายถึง                                ของมีค่าทั้งหมด
๒.  มีความหมายกว้างขึ้น เช่น
                พี่น้อง                    หมายถึง                                ญาติทั้งหมด
                เสื้อผ้า                    หมายถึง                                เครื่องนุ่งห่ม
๓.  มีความหมายแคบลง  เช่น
                                หยิบยืม                  หมายถึง                                ยืม
                                เงียบเชียบ             หมายถึง                                เงียบ
                                เอร็ดอร่อย             หมายถึง                                อร่อย
๔.  มีความหมายเชิงอุปมา เช่น
                                คับแคบ  อุ้มชู ถากถาง หนักแน่น ดูดดื่ม  
              
           


    



















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น